การขึ้นทะเบียนนักกีฬาประจำจังหวัด และ การจัดตั้งชมรมกีฬาประจำจังหวัด
published : 22 Jun 19 9:50 AM http://www.ssat.or.th/?p=1854


มาสรุปให้ฟังง่ายๆ ก่อนว่า ทำไมจึงต้องขึ้นทะเบียนนักกีฬาประจำจังหวัด?
ตอบ: นักกีฬาที่จะเข้าร่วมการแข่งขันในมหกรรมกีฬาแห่งชาติ กีฬาเยาวชนแห่ง ต้องเป็นนักกีฬาตัวแทนจังหวัดเท่านั้น (*** ต้องขึ้นทะเบียนล่วงหน้า 6 เดือนก่อนถึงการแข่งขัน ***)

นักกีฬาสามารถขอขึ้นทะเบียนด้วยตัวเองโดยตรงที่สมาคมกีฬาจังหวัดได้ แต่โดยมาก การมีชมรมเป็นผู้ดำเนินการให้จะทำให้การดำเนินการราบรื่นกว่า เพราะจะมีการกรอกข้อมูลและติดตามข้อมูล ต่างๆ ที่ต้องประสานและติดตามต่อเนื่องอีกหลายเรื่อง 

แล้วจะจัดตั้งชมรมกีฬาประจำจังหวัดไปทำไม?
ตอบ:
ก็เพราะผู้ที่มีสิทธิ์ส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันในมหกรรมกีฬาแห่งชาติ กีฬาเยาวชนแห่งชาติ คือ สมาคมกีฬาแห่งจังหวัด

สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดมีหน้าที่ดูแลทุกชนิดกีฬา จึงจำเป็นที่จะต้องมีผู้ช่วยดูแล ติดตาม และสนับสนุนนักกีฬา ซึ่งเจ้าหน้าที่ของสมาคมกีฬาจังหวัดมีไม่เพียงพอ สมาคมกีฬาจังหวัดส่วนมากจึงทำงานร่วมกับชมรมกีฬาประจำจังหวัดในแต่ละชนิดกีฬา และให้อำนาจชมรมกีฬาแต่ละชมรมไปบริหารจัดการกันเอง พอถึงเวลาส่งแข่งขัน ชมรมกีฬาจึงมีหน้าที่สำคัญคือ คันตัวนักกีฬาเพื่อเสนอชื่อต่อสมาคมกีฬาจังหวัด และในกรณีที่จังหวัดเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ชมรมกีฬาก็จะมีหน้าที่เพิ่มเติมคือ เป็นผู้ประสานงานดูและการจัดการแข่งขันอีกด้วย

ชมรมนี้จะมีหน้าที่ดังนี้
1. เป็นผู้จัดเตรียมและยื่นเอกสาร ขึ้นทะเบียนนักกีฬาประจำจังหวัด ให้กับสมาคมกีฬาแห่งจังหวัด
2. พิจารณารายชื่อนักกีฬาส่งแข่งขัน ตามโควต้าร์ที่ทางสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดมอบให้
3. พิจารณาจัดการแข่งขันคัดเลือกตัวนักกีฬาโดยของบประมาณจากทางจังหวัดมาบริหารจัดการ
4. กรณีจังหวัดได้เป็นเจ้าภาพ ชมรมกีฬานั้นๆ ก็จะมีหน้าที่ประสานงานจัดการแข่งขันในฐานะเจ้าภาพ
4. สมาคมกีฬาแห่งจังหวัด หรือ กกท จังหวัด หากมีจัดกิจกรรมหรือมีการสนับสนุนใดๆ ก็จะประสานผ่านทางชมรมเป็นหลัก
5. หากมีงบประมาณอุดหนุนจากสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย ทั้งระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ ก็จะผ่านมาที่ชมรมกีฬาเป็นหลัก

เมื่อทราบรายละเอียดและสิทธิ์ประโยชน์เบื้องต้นกันแล้ว ก็มาลงรายละเอียดกันเลย

*****************************

 

การขึ้นทะเบียนนักกีฬาสังกัดสมาคมกีฬาจังหวัด

*** นักกีฬาที่เคยขึ้นทะเบียนกับกีฬาชนิดอื่นแล้ว ไม่ต้องยื่นขอขึ้นทะเบียนใหม่ แค่แจ้งย้ายชนิดกีฬาที่ตัวเองเล่น ที่สมาคมกีฬาจังหวัดก็จะสามารถลงแข่งขันได้ ***

จะเลือกขึ้นทะเบียนนักกีฬาที่จังหวัดไหนดี?
แต่ละจังหวัดก็จะมีการสนับสนุนนักกีฬาที่แตกต่างกัน บางจังหวัดให้สิทธิ์ประโยชน์มาก บางจังหวัดให้น้อย หรือ บางจังหวัดมีนักกีฬาเยอะ โอกาสที่จะได้รับคัดเลือกให้ไปแข่ง ก็ยาก เพราะต้องแข่งขันกันเองในจังหวัด แต่ถ้าไปขอลงที่จังหวัดที่คู่แข่งน้อยๆ โอกาสที่จะได้รับคัดเลือกก็สูงกว่า 
นักกีฬาจึงต้องเลือกว่าจะขึ้นทะเบียนที่จังหวัดไหนถึงจะดีกับตัวเองมากที่สุด
แล้วจะเลือกได้ยังไงบ้าง?
1. ดูใบเกิดตัวเองก่อนเลยว่าในใบเกิดระบุจังหวัดไหน ย้ายเข้าบ้านที่จังหวัดไหนเป็นที่แรก? (เรียกว่าขึ้นทะเบียนตามสูติบัตร) ซึ่งจะใช้สิทธิ์เลือกได้เพียงครั้งแรกครั้งเดียว 
เคสเพิ่มเติม: ถ้านักกีฬาเกิดที่จังหวัดนึง จากนั้นไปย้ายเข้าทะเบียนบ้านแรก อีกจังหวัดนึง ก็จะมีตัวเลือกได้ 2 จังหวัด ยกตัวอย่าง ตอนคลอด คลอดที่ กรุงเทพ ซึ่ง รพ. ในกรุงเทพจะมีทะเบียนบ้านชั่วคราวให้ย้ายเข้าก่อน จากนั้นพอออกจาก โรงพยาบาล ก็ทำเรื่องย้ายทะเบียนบ้าน ไปเข้าที่ทะเบียนบ้านจริงที่ชลบุรี อันนี้เรียกว่าทะเบียนบ้านแรก ทำให้นักกีฬาคนนี้มีจังหวัดให้เลือกเป็น 2 ตัวเลือก คือ กรุงเทพ หรือ ชลบุรี ก็ได้

2. ดูที่โรงเรียนปัจจุบันว่าเรียนอยู่จังหวัดไหน? (เรียกว่าขึ้นทะเบียนตามสถานศึกษา) ข้อนี้ ถ้าอยากไปขึ้นทะเบียนจังหวัดไหนเป็นพิเศษ นักกีฬาจะต้องย้ายสถานศึกษาไปที่จังหวัดนั้นๆ ก็สามารถทำได้

3. แบบสุดท้าย คือขึ้นทะเบียน “ตามสถานประกอบอาชีพ” อันนี้นักกีฬาจะต้องมีงานประจำทำ แล้วให้นายจ้างผู้ที่มีการจดทะเบียนสถานประกอบการตามจังหวัดต่างๆ เป็นผู้รับรองให้ ซึ่งแน่นอนว่า นักกีฬาที่มีงานทำแล้ว จะมีสิทธิ์เลือกที่จะขึ้นทะเบียนตามจังหวัดที่ตัวเองต้องการได้ ตามเงื่อนไขข้อนี้

และเมื่อลงทะเบียนเป็นนักกีฬาประจำจังหวัดแล้ว หากต้องการเปลี่ยนจังหวัด อันนี้จะเริ่มยาก สมมุตินักกีฬาจะย้ายจาก เชียงใหม่ ไป สงขลา อันดับแรกต้องทำหนังสือขอย้ายสังกัดสมาคมกีฬาจังหวัด เชียงใหม่ และต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จากนั้นถึงจะนำเอกสารนี้ไปขอขึ้นทะเบียนที่จังหวัด สงขลาอีกที พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องได้รับความยินยอมจากทั้งสองจังหวัด ทั้งจังหวัดที่ย้ายออก และ จังหวัดที่ย้ายเข้า ดังนั้นนักกีฬาควรพิจารณาจังหวัดที่ตนเองต้องการที่จะขึ้นทะเบียนให้ถี่ถ้วนด้วยเช่นกัน

หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนนักกีฬาสังกัดสมาคมกีฬา
1. คุณสมบัติทั่วไป
1.1 เป็นนักกีฬาสมัครเล่น
1.2 มีสัญชาติไทย
1.3 เป็นนักกีฬา หรือบุคลากรกีฬาที่สมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาจังหวัด หรือ กกท. รับรอง

2. ประเภทการขึ้นทะเบียน
2.1 ขอขึ้นทะเบียน “ตามสูติบัตร” ใบสมัครขึ้นทะเบียนนักกีฬาและแบบคำขอมีบัตรนักกีฬา (จำนวน 2 ชุด) จะต้องแนบเอกสารหลักฐาน จำนวน 2 ชุด ดังนี้ 
2.1.1 สำเนาสูติบัตร หมายความถึง ใบเกิดของนักกีฬาที่เกิดในจังหวัดนั้นๆ 
2.1.2 สำเนาทะเบียนบ้านที่อยู่ปัจจุบัน
2.1.3 สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
2.1.4 รูปถ่าย ขนาด 1 นิ้ว จำนวน 2 รูป

2.2 ขอขึ้นทะเบียน “ตามสถานศึกษา” ใบสมัครขึ้นทะเบียนนักกีฬาและแบบคำขอมีบัตรนักกีฬา (จำนวน 2 ชุด) จะต้องแนบเอกสารหลักฐาน จำนวน 2 ชุด ดังนี้ 
2.2.1 สำเนาสูติบัตร หมายความถึง ใบเกิดของนักกีฬา 
2.2.2 สำเนาทะเบียนบ้านที่อยู่ปัจจุบัน
2.2.3 สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
2.2.4 หนังสือรับรองจากสถานศึกษาฉบับจริง
2.2.5 สำเนาใบระเบียนการศึกษาในปีปัจจุบัน หรือ ใบลงทะเบียนการเรียนในภาคเรียนปัจจุบัน
2.2.6 รูปถ่าย ขนาด 1 นิ้ว จำนวน 2 รูป

2.3 ขอขึ้นทะเบียน “ตามสถานประกอบอาชีพ” ใบสมัครขึ้นทะเบียนนักกีฬาและแบบคำขอมีบัตรนักกีฬา (จำนวน 2 ชุด) จะต้องแนบเอกสารหลักฐาน จำนวน 2 ชุด ดังนี้ 
2.3.1 สำเนาสูติบัตร หมายความถึง ใบเกิดของนักกีฬา 
2.3.2 สำเนาทะเบียนบ้านที่อยู่ปัจจุบัน
2.3.3 สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
2.3.4 หนังสือรับรองการทำงานจากสถานประกอบการฉบับจริง
2.3.5 หนังสือรับรองการทำงานจริงจากนายกสมาคมกีฬาจังหวัด (สมาคมกีฬาจะออกให้)
2.3.6 หนังสือรับรองการทำงานจริงจากศูนย์ กกท. จังหวัด (ศูนย์ กกท.จังหวัดจะออกให้)
2.3.7 รูปถ่าย ขนาด 1 นิ้ว จำนวน 2 รูป

ให้ยื่นแบบใบสมัครขอขึ้นทะเบียนนักกีฬาที่สมาคมกีฬาจังหวัด  เพื่อทำการตรวจสอบเอกสารให้ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ แล้วสมาคมกีฬาจังหวัดจัดส่งเอกสารให้กับศูนย์ กกท. จังหวัด ดำเนินส่งเอกสารให้กับ กกท. ส่วนกลางดำเนินการต่อไป


เอกสารที่เกี่ยวข้อง

แบบคำขอมีบัตรประจำตัวนักกีฬาประจำจังหวัด
แบบคำขอย้ายสังกัดสมาคมกีฬาจังหวัด
ใบสมัครขึ้นทะเบียนนักกีฬาสังกัดสมาคมกีฬาจังหวัด
ระเบียบการกีฬาแห่งประเทศไทย 2550

*****************************

 

ขั้นตอนการจดทะเบียนชมรมกีฬาประจำจังหวัด

 1. คณะบุคคลผู้ที่สนใจกีฬาสกีและสโนว์บอร์ดในจังหวัดนั้นๆ จัดทำเอกสารดังต่อไปนี้

          1.1 รายชื่อคณะกรรมการบริหารชมรม
          1.2 คำให้การของผู้จะเป็นกรรมการของชมรมกีฬา 1 ชุด
          1.3 สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน ของกรรมการชมรมกีฬา คนละ 1 ชุด
          1.4 ข้อบังคับของ ชมรมกีฬาสกีและสโนว์บอร์ดจังหวัด (ชื่อจังหวัด)
         
1.5 รายงานการประชุมคณะกรรมการ ชมรมกีฬาสกีและสโนว์บอร์ดจังหวัด (ชื่อจังหวัด)

          พร้อมกรอก ใบสมัครเป็นสมาชิกประเภทชมรมกีฬาประจำจังหวัด ส่งมายังสมาคมกีฬาสกีและสโนว์บอร์ดแห่งประเทศไทยเพื่อสมัครสมาชิก และรับหนังสือรับรองการเป็นสมาชิกจากสมาคมฯ

ขั้นตอนนี้จะ อาจจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน เนื่องจากต้องรอให้ที่ประชุมประจำเดือนของสมาคมกีฬาสกีและสโนว์บอร์ดแห่งประเทศไทยพิจารณารับสมัครสมาชิกตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง

ตรวจสอบรายชื่อชมรมที่ขึ้นทะเบียนกับสมาคมกีฬาสกีและสโนว์บอร์ดแห่งประเทศไทยได้ที่นี่ รายชื่อชมรมขึ้นทะเบียน

 2. เปลี่ยนสถานะจาก คณะบุคคล เป็นชมรมกีฬาภายใต้สมาคมกีฬาสกีและสโนว์บอร์ดแห่งประเทศไทย โดยจะได้รับหนังสือรับรองการเป็นสมาชิกสามัญประเภทชมรมกีฬา จากสมาคมกีฬาสกีและสโนว์บอร์ดแห่งประเทศไทย

 3. ชมรมกีฬา นำเอกสาร ดังต่อไปนี้ ไปขอจดทะเบียนกับสมาคมกีฬาประจำจังหวัด

          3.1. รายชื่อคณะกรรมการบริหารชมรม
          3.2. คำให้การของผู้จะเป็นกรรมการของชมรมกีฬา 1 ชุด
          3.3. สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน ของกรรมการชมรมกีฬา คนละ 1 ชุด
          3.4. ข้อบังคับของ ชมรมกีฬาสกีและสโนว์บอร์ดจังหวัด (ชื่อจังหวัด)
          3.5. รายงานการประชุมคณะกรรมการ ชมรมกีฬาสกีและสโนว์บอร์ดจังหวัด (ชื่อจังหวัด)
          3.6. หนังสือรับรองสถานะสมาชิกจากสมาคมกีฬาสกีและสโนว์บอร์ดแห่งประเทศไทย
          3.7. สำเนาใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนสมาคมกีฬาสกีและสโนว์บอร์ดแห่งประเทศไทย

          พร้อมกรอก แบบฟอร์มใบสมัครเป็นสมาชิกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัด (ชื่อจังหวัด) และ คำขอจดทะเบียนชมรมกีฬาสกีและสโนว์บอร์ดจังหวัด (ชื่อจังหวัด) 

หากติดปัญหาใดๆ ขอให้ขอคำปรึกษากับสมาคมกีฬาสกีและสโนว์บอร์ดแห่งประเทศไทยได้ที่

สมาคมกีฬาสกีและสโนว์บอร์ดแห่งประเทศไทย เลขที่ 286 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา (ชั้น 19) ถนนรามคำแหง หัวหมาก กทม 10240 

Download แบบฟอร์มต่างๆ ในการจัดตั้งชมรมกีฬาประจำจังหวัดได้ที่นี่

แบบฟอร์มจัดตั้งชมรมกีฬา (Doc)

แบบฟอร์มจัดตั้งชมรมกีฬา (pdf)

 

by Sueb T.